CU Zero Waste

CHULA ZERO WASTE


               "....ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย..."
               พระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา
5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร
               “ขยะ” เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนทุกคน เราทุกคนสร้างขยะขึ้นมามากมาย การจัดการขยะจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีการจัดการที่ดี แน่นอนว่าปัญหาขยะจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอน
               จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี
2559 พบว่า คนหนึ่งคน สร้างขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ตัวเลขนี้อาจดูเป็นตัวเลขที่ไม่เยอะ แต่เมื่อคิดรวมของประชากรทั้งประเทศเป็นเวลา 1 ปี พบว่า เรามีขยะทั้งหมดกว่า 27 ล้านตัน ปริมาณขยะที่มหาศาลนี้ใน ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของประชากร และที่สำคัญคือ การที่เราใช้และบริโภคทรัพยากรอย่างไม่เห็นคุณค่านั่นเอง (http://infofile.pcd.go.th/mgt/Thailand_state_pollution2017%20Thai.pdf?CFID=1600195&CFTOKEN=29372218)
               จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่พยายามแก้ไขปัญหาขยะนี้ จากความร่วมมือของหลายคณะ ทั้งฝ่ายคณาจารย์ บุคลากร และนิสิต จึงเกิดเป็นโครงการ CHULA ZERO WASTE ขึ้นมา เพื่อจัดการปัญหาด้านขยะอย่างมีประสิทธิภาพ




               โครงการ CHULA ZERO WASTE เป็นโครงการการจัดการขยะที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง ไม่ใช่แค่มาตรการการแยกขยะ ณ ที่ทิ้ง แต่มีทั้งการจัดการที่ต้นทาง เช่น ลดปริมาณขยะที่ทิ้ง และการจัดการที่ปลายทาง เช่น การนำขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิล หรือไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ รวมไปถึงการพัฒนาการสอนด้านการจัดการขยะ และปลูกฝังจิตสำนึกของบุคลากรและนิสิตให้การรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของโครงการ CHULA ZERO WASTE
               Øเพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะในพื้นที่เมือง
               Øเพื่อพัฒนาและบูรณาการความรู้เรื่องการลด คัดแยกและการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมภาคปฏิบัติทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย
               Ø เพื่อสร้างค่านิยม Zero Waste และความตระหนักของบุคลากรในจุฬาฯ (คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต) ให้เห็นความสำคัญของการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง และเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและสังคม


(อ้างอิง: http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/แผนปฏิบัติการ/)

                โครงการ CHULA ZERO WASTE นี้ประกอบด้วย 6 แผนการหลัก และหลากหลายโครงการย่อยมากมายแต่มี 2 โครงการที่พวกเราอาจพบเห็นได้บ่อยๆ ในบริเวณรอบๆ พื้นที่ของมหาวิทยาลัย คือ โครงการลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกในทุกพื้นที่ของจุฬาฯ และ โครงการการแยกขยะ



โครงการลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกในทุกพื้นที่ของจุฬาฯ


               จากข้อมูลการสำรวจของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คนไทย 1 คนใช้ถุงพลาสติกประมาณ 8 ใบต่อวัน หากคำนวณจากจำนวนประชากรกว่า 68 ล้านคน (ไม่นับรวมประชากรแฝงและนักท่องเที่ยว) เท่ากับว่า ใน 1 ปี คนไทยใช้ถุงพลาสติกมากถึง 198,560 ล้านใบ โดยคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าถุงพลาสติกย่อยสลายยาก ใช้เวลาถึง 100 – 450 ปีกว่าจะเสื่อมสลาย สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างมากทั้งบนบกและทะเล ดังนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้คิดโครงการลดใช้ถุงพลาสติกขึ้นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังสร้างค่านิยมการลดใช้ถุงพลาสติกแก่บุคลากรในมหาวิทยาลัยอีกด้วย


                โครงการลดใช้ถุงพลาสติกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมมือกับร้านสหกรณ์จุฬาฯ และบริษัทซีพีออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ดำเนินมาตรการลดและงดแจกถุงพลาสติกในร้านสหกรณ์ฯ 5 สาขาและบูธเซเว่นอีเลฟเว่น 6 สาขาในมหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการนี้พบว่า ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านสหกรณ์จุฬาฯ ที่สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 99% จาก 56,000 ใบต่อเดือน (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2559) เหลือเพียง 500 ใบต่อเดือน (ข้อมูลเดือนมีนาคมและเมษายน 2560) ส่วนบูธเซเว่นอีเลฟเว่น สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 83% ในช่วงเวลาเดียวกัน หากรวมปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของทั้งสองร้าน พบว่า ในเดือนเมษายน 2560 มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกอยู่ที่ 13,600 ใบ ลดลงจากยอดก่อนเริ่มโครงการ (132,600 ใบ) ถึง 89.7% ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายในร้านแต่อย่างใด


( นิสิตยังคงซื้อสินค้าตามปกติ แม้ว่าจะไม่มีการแจกถุงพลาสติก )


( ที่มา: http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/ฐานข้อมูลขยะ )


               โครงการฯ ยังคงเปิดรับบริจาคถุงพลาสติกและถุงผ้าที่ไม่ใช้แล้วจากบุคลากรจุฬาฯ และประชาชนทั่วไปเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับลูกค้าของร้านสหกรณ์ฯ และบูธเซเว่น โดยสามารถนำมาบริจาคได้ที่กล่องรับบริจาค (Drop box) ที่ร้านสหกรณ์จุฬาฯ ทุกสาขา โดยผู้ที่นำถุงพลาสติกตั้งแต่ 50 ชิ้นขึ้นไปหรือถุงผ้าตั้งแต่ 5 ชิ้นขึ้นไปมาบริจาคให้กับโครงการฯ สามารถรับสมุดโน้ตแทนคำขอบคุณจากโครงการฯ 


( โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการ  ที่มา: http://www.chula.ac.th/th/archive/54969 )

                ผู้เขียนคิดว่าโครงการลดใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัยเป็นโครงการที่ดีมากและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงมากขึ้นก็จะทำให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโครงการได้มีตัวแทนช่วยในการกระจายข่าวสารต่างๆ ซึ่งทำให้การกระจายข่าวมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ส่งผลให้โครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างยั่งยืน


โครงการการแยกขยะ


               โครงการการแยกขยะเป็นหนึ่งในแผนงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงระบบการคัดแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิด โดยทางคณะทำงานมีการสำรวจเส้นทางการสัญจรของนิสิต ตำแหน่งที่เหมาะสมให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น บริเวณที่เป็นป้ายรถโดยสารภายในจุฬาฯ หรือโรงอาหาร และมีการคำนวณจำนวนถังขยะที่ไม่มากหรือน้อยเกินไปสำหรับการวางถังขยะในแต่ละบริเวณ
               รวมไปถึงมีการออกแบบและผลิตถังขยะใหม่ พร้อมป้ายรณรงค์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแยกขยะ ซึ่งมีภาพประกอบและสีสันสดใส ทำให้ให้เห็นได้ชัดเจน อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสบายตา ไม่ดูสกปรกเกินไปจนคนไม่กล้าเข้าไปทิ้ง

(ถังขยะรูปแบบใหม่ และป้ายรณรงค์ บริเวณหอพักนิสิต จุฬาฯ)

               ซึ่งโครงการนี้ก็ได้รับการสานต่อไปตามคณะ และตึกต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้จาก ตามโรงอาหารหรือทางเดินของแต่ละคณะมีการแยกถังขยะตามประเภทของขยะ แยกเศษอาหาร เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกและความเคยชินให้กับบุคลากรและนิสิต รวมถึงเพื่อความสะดวกในการจัดการในขั้นตอนต่อไปอีกด้วย


( ถังขยะที่มีป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับขยะที่ควรทิ้ง บริเวณโรงอาหารคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ )

               สำหรับผู้เขียนแล้ว คิดว่าโครงการการแยกขยะนี้ประสบความสำเร็จมาก ถังขยะใหม่นี้มีรูปแบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น เมื่อรวมกับป้ายที่ระบุว่าถังนี้เป็นขยะประเภทไหนบ้าง สามารถทำให้คนทั่วไปที่กำลังจะทิ้งขยะลงถัง เกิดการฉุกคิดขึ้นมาว่าขยะในมือเรานั้นควรทิ้งลงถังไหน ควรแยกอย่างไร เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทิ้งขยะขึ้น ถ้าโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขยายผลโครงการนี้ จากจุฬาฯ ไปสู่ชุมชนรอบข้าง ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ย่อมเป็นการดีต่อปัญหาขยะที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา
          
               นอกจากนี้ ทางผู้เขียนยังมีบทสัมภาษณ์สั้นๆ ของผู้ใช้งานจริง ตัวแทนนิสิตที่ปฏิบัติตามแนวทางของโครงการ CHULA ZERO WASTE มาโดยตลอด



แนะนำตัวกันสักนิด
              "สวัสดีครับ ชื่อ ภากร เภาวัฒนาสุข (เบสท์) นิสิตคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 เป็นผู้นำเชียร์คณะแพทยศาสตร์ในงาน CU Freshy Game 2017 ด้วยครับ"
ปกติลดขยะอย่างไรบ้าง 
              "ก็มีใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เลือกใช้ภาชนะที่ใช้ได้หลายครั้ง และเก็บไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้กระดาษเพื่อลดปริมาณขยะครับ"
ตลอดระยะเวลาที่ทำมา พบปัญหาอะไรที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลดขยะในจุฬาฯ บ้างไหม
              "ยังคงมีร้านอาหารหรือร้านเครื่องดื่มบางร้านที่ใช้ภาชนะหรือถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ครับ"
คิดว่าควรจะมีโครงการอะไรที่ช่วยหรือสนับสนุนให้เป็น จุฬาฯ สีเขียวได้อีกบ้าง 
              "งดการประกวดนวัตกรรมเพื่อจุฬาฯ สีเขียวขึ้นน่าจะดีนะครับ"
อยากให้เชิญชวนคนอื่น มาปฏิบัติตามแนวทางของ CHULA ZERO WASTE กัน 
              "โครงการนี้ทำไปไม่ใช่เพื่อใคร แต่ก็เพื่อพวกเราเอง สถาบันของเราเอง จะทำให้ จุฬาฯ น่าอยู่ต้องช่วยกัน แค่การกระทำเล็กๆก็มีความหมาย"

               สุดท้ายนี้ก็อย่างที่กล่าวไป โครงการ CHULA ZERO WASTE จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของพี่น้องชาวจุฬาฯ และบุคลากรจุฬาฯ ทุกท่าน ร่วมกันทำให้มหาวิทยาลัยที่รักของเรา เป็น จุฬาฯ สีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตลอดไป


 แนะนำตัว
สวัสดีครับ ผมชื่อ คณิน สมศิริวัฒนา (ฟลุ๊ค) นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1

ตอนได้รับการติดต่อให้ไปร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการ CU ZERO WASTE รู้สึกยังไงบ้าง
ตอนที่ได้รับการติดต่อเข้าร่วมโครงการนี้ก็รู้สึกดีใจมาก เพราะอันดับแรกเลย มันคือความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติ อะไรก็ตามที่เป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ถ้าได้มีโอกาสทำก็จะดีใจมากๆ เพราะนั่นคือเราได้ทำประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยที่เรากำลังศึกษาอยู่ มันคือความรู้สึกดีมากๆและยิ่งทราบว่าเป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นแบบอย่างในวงกว้าง ก็ยิ่งดีใจมากขึ้นไปอีก

ปกติลดขยะอย่างไรบ้าง
ปกติผมก็จะพกกระบอกน้ำดื่มไว้ติดตัวอยู่แล้วตั้งแต่อยู่เตรียมอุดม เพราะผมติดดื่มน้ำบ่อยๆมาตั้งแต่เด็ก จึงรู้สึกสะดวกกว่าที่จะต้องไปหาซื้อน้ำดื่มขวด อีกข้อก็คือเรื่องรับประทานอาหารจนหมดจาน คุณแม่ก็ฝึกจนติดนิสัยมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะตักข้าวใส่จานก็ตักแต่พอดีกิน กินให้หมด ถ้าไม่พอค่อยเติม ไม่เหลือทิ้งขว้าง ซึ่งผมมักจะกินหมดเกลี้ยงครับ เพราะผมกินเก่งตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ตลอดระยะเวลาที่ทำมา พบปัญหาอะไรที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลดขยะในจุฬาฯ บ้างไหม
น่าจะเป็นเรื่องความเคยชินของแต่ละบุคคลที่เป็นอุปสรรคใหญ่ 

คิดว่าเราควรจะมีโครงการอะไรที่ช่วยให้เป็น จุฬาฯ สีเขียวได้อีก
อาจจะมีโครงการประกวดกันแต่ละคณะ หรือกลุ่ม ถ่ายรูปลง Instagram หรือ Facebook #กินข้าวเกลี้ยงจาน อะไรทำนองนี้ น่าสนุกดีนะครับ อาจเป็นการสร้างกระแสอีกทางหนึ่ง

อยากให้เชิญชวนคนอื่น มาปฏิบัติตามแนวทางของ CU ZERO WASTE

อยากเชิญชวนเพื่อนๆ พี่ๆ ชาวจุฬาฯ ทุกท่านมาช่วยกัน ลดขยะให้เป็น CU ZERO WASTE กันให้สำเร็จ ฟังดูแล้วเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่จริงๆ ไม่ยากเลย แค่ทุกคนช่วยกันคนละแรง ปฏิวัติวิถีชีวิตตัวเองง่ายๆ แถมยังเป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมจุฬาฯ ของเราต่อไปครับ


แนะนำตัว
สวัสดีครับ ชื่อ ปัณญวิชญ์ พละศูนย์ (ไทเกอร์) ครับ อายุ 20 ปี เรียนวิศวกรรมโยธา ชั้นปีที่ 2

ตอนได้รับการติดต่อให้ไปร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการ CU ZERO WASTE รู้สึกยังไงบ้าง
ก็รู้สึกดีใจเพราะว่าโครงการนี้มีชื่อเสียง และก็เห็นป้ายโฆษณาบ่อยมากทำให้รู้สึกคุ้นกับโครงการนี้มากๆ อีกอย่างคืออยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยประชาสัมพันธ์โครงการดีๆ แบบนี้เพื่อให้คนหันมาสนใจกับสิ่งนี้มากขึ้นด้วย

ปกติลดขยะอย่างไรบ้าง
ปกติผมก็จะมีกระบอกน้ำส่วนตัวอยู่เสมอซึ่งเอาไว้เติมน้ำตามจุดต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วจุฬาฯ เลย และก็จะให้ถุงผ้าในการซื้อของและยังปฏิเสธการรับถุงพลาสติก อีกทั้งยังแยกขยะก่อนทิ้งอยู่เสมอครับ

ตลอดระยะเวลาที่ทำมา พบปัญหาอะไรที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลดขยะในจุฬาฯ บ้างไหม
บางบริเวณที่ควรมีถังขยะกลับไม่มีถังขยะ อีกทั้งบางจุดใช้สีในการแยกชนิดขยะไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้สับสนในการทิ้งขยะ

คิดว่าเราควรจะมีโครงการอะไรที่ช่วยให้เป็น จุฬาฯ สีเขียวได้อีก
ทำป้ายโฆษณาเชิญชวนอีกสัก 2 - 3 ป้าย ให้ดูเป็นการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง หรืออาจจะเพิ่มส่วนลดจากไม่ใช้ถุงพลาสติก หรือนำขวดน้ำจำนวนนึง เพื่อมาแลกเป็นกระบอกน้ำหรือกระเป๋า

อยากให้เชิญชวนคนอื่น มาปฏิบัติตามแนวทางของ CU ZERO WASTE
โลกของเรา ถ้าเราไม่ดูแลแล้วใครจะดูแล จะบอกให้คนอื่นทำแบบนั้นแบบนี้โดยที่ตัวเองยังไม่ลงมือทำ ดังนั้นเราควรเริ่มที่ตัวเองแค่ลดการใช้ขวดพลาสติก ใช้กระบอกน้ำแทนก็พอแล้ว อยากจะเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นที่รั้วจุฬาฯ บ้านหลังนี้ของเราก่อนนะครับ


ความคิดเห็น